ความเท่าเทียมที่ไม่เท่าเทียม ระหว่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต – สมรสเท่าเทียม

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พบว่าผู้คนในโลกโซเชียลมีเดียให้ความสนใจ โดยมีการเปรียบเทียบ และกล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมของคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ จากที่ ส.ส. ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ จากพรรคก้าวไกล เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ มาตรา 1448 (ร่าง แก้ไข ป.พ.พ. 1448) เพื่อการสมรสเท่าเทียม

BLT Bangkok จึงรวบรวมสิทธิ และหน้าที่บางประการ ระหว่างร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ ครม.มีมติเห็นชอบ และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ มาตรา 1448 ที่ ส.ส.จากพรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างให้เห็นชัดโดยง่าย

ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เห็นชอบโดย ครม.
สำหรับร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต หรือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ ครม. มีมติเห็นชอบนั้น มีหลักการคือ เพื่อให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แล้ว โดยหลังจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตจะถูงส่งไปยังคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
โดยร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต มีสาระสำคัญอยู่ 9 ประการ อาทิ การกำหนดให้บุคคล 2 คนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิดได้จดทะเบียนคู่ชีวิตกันตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ มีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย รวมทั้งการให้อำนาจจัดการผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา และการดำเนินคดีอาญาแทนอีกฝ่าย

อย่างไรก็ตามร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับนี้ ยังไม่มีการบังคับใช้ทางกฎหมาย เนื่องจากจะต้องเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบต่อไป

พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ มาตรา 1448 (ร่าง แก้ไข ป.พ.พ. 1448) เพื่อการสมรสเท่าเทียม

สำหรับ ร่าง แก้ไข ป.พ.พ. 1448 เพื่อการสมรสเท่าเทียม นั้น มาจากที่ นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ เป็นผู้เสนอ โดยสาระสำคัญหลักของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้คือการเสนอขอแก้ไขเพื่อให้บุคคลธรรมดาทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศสามารถทำการหมั้นและสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ซึ่งเมื่อบุคคลธรรมดาได้หมั้นหรือสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ก็ให้มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องต่างๆ พร้อมทั้งขอแก้ไขถ้อยคำในหลายมาตราที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า “สามีและภรรยา” เป็น “คู่สมรส” และการหมั้น ให้บุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศซึ่งมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ทำการกันได้ และเสนอกำหนดคำศัพท์ขึ้นใหม่เป็น “ผู้หมั้น” และ “ผู้รับหมั้น” แทนคำว่า “ชาย” และ “หญิง” และแบบของการหมั้นให้ผู้หมั้นส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินให้กับผู้รับหมั้น ในส่วนของเรื่องสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่หมั้นยังคงตามหลักการเดิมเพียงแต่ปรับถ้อยคำเป็น “ผู้หมั้น” และ “ผู้รับหมั้น”

สำหรับการสมรส ให้บุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศซึ่งมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ สามารถสมรสกันได้ หรือหากมีเหตุอันสมควรศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ สำหรับเงื่อนไขการสมรสยังคงหลักการเดิม แต่มีการปรับถ้อยคำจากคำว่า “ชาย” หรือ “หญิง” เป็น “บุคคล” เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสมรสระหว่างบุคคล

ความแตกต่างระหว่าง ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ ร่าง แก้ไข ป.พ.พ. 1448 เพื่อการสมรสเท่าเทียม

หลังจากที่ ครม.ให้ความเห็นชอบ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ส่งผลให้โลกโซเชียลมีเดียมีการเปรียบเทียบ และกล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมของคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ จากที่ ส.ส. ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ จากพรรคก้าวไกล เสนอร่าง ป.พ.พ. 1448 (สมรสเท่าเทียม) โดยระบุว่า ร่าง พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับยังมีความไม่เท่าเทียมกัน ทั้งสิทธิ และหน้าที่ของคู่รัก LGBTQ ซึ่งต่างกับคู่สมรสชายหญิงทั่วไปในหลายประเด็น

อ้างอิง : https://www.bltbangkok.com/news/25622/